วันพุธที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

บลจ.ไทยพาณิชย์ แนะทยอยลงทุนกอง LTF รับตลาดหุ้นผันผวน

          นางโชติกา สวนานนท์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด เปิดเผย ว่า ปัจจุบันดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของไทยอยู่ในระดับที่น่าสนใจในการเข้ามาลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุน ที่รอจังหวะเข้าลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ถึงแม้ว่าปัจจุบันดัชนีตลาดหลักทรัพย์ที่ระดับ 1,400 จุด มี PE ประมาณ 12.5 เท่าของกำไรในปี 2556 ซึ่งดูเหมือนยังสูงอยู่เมื่อเทียบกับในอดีตดัชนี ตลาดหลักทรัพย์มี PE เฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี อยู่ประมาณ 11.5 เท่า แต่เนื่องจากปัจจุบันมีความแตกต่าง จากอดีตที่ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องเสถียรภาพทางการเมือง อีกทั้งแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยรวมในปัจจุบันสูงกว่าในอดีตอยู่พอสมควร


          ทั้งนี้นโยบายการบริหารกองทุนของ บลจ.ไทยพาณิชย์จะเน้นการลงทุนในหุ้นที่ PE ไม่สูงมากเพราะใน อนาคตเศรษฐกิจจะมีความผันผวนกว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นหุ้นที่มีผลดำเนินงานที่ดีอย่าง สม่ำเสมอจะสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าหุ้นที่เน้นการเติบโตจากโครงการในอนาคต อย่างไรก็ตามสิ่งที่ ยังต้องจับตามอง


          คือเรื่องการเมืองภายในประเทศ ทั้งเรื่องของการจำนำข้าว นโยบายการจัดการน้ำและโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการตัดสินคดีเขาพระวิหารทีจะเกิดขึ้น ในไตรมาสที่ 3 นี้ รวมถึงภาวะเศรษฐกิจของประเทศจีนที่มีการเติบโตที่ลดลง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยและทำให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับลงมาต่ำกว่าที่ควรจะเป็นได้


          สำหรับคำแนะนำการลงทุนในช่วงนี้ นักลงทุนควรแบ่งเงินออกเป็นส่วนๆ เพื่อทยอยเข้าซื้อกองทุนอย่าง เพราะมีโอกาสเป็นไปได้ที่ในอีก 1 ถึง 2 เดือนข้างหน้า ราคาหุ้นยังมีความผันผวนต่อเนื่อง โดย กองทุน LTF ของทาง บลจ.ไทยพาณิชย์ที่น่าสนใจ แบ่งเป็น 2 แบบ คือ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นระยะ ยาวพลัส (SCBLT2) ที่เน้นการลงทุนในหุ้นที่มีความผันผวนต่ำ ราคาต่ำกว่ามูลค่า และมีการเติบโต อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งมีผลการดำเนินงานย้อนหลังตั้งแต่เริ่มก่อตั้งกองทุน อยู่ที่ 137.34% (ข้อมูล ณ วันที่ 28 มิ.ย. 56)


          นอกจากนี้ยังมีกองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นระยะยาว เอ็มเอไอ (SCBLT3) ที่เน้นการลงทุนในหุ้นที่มี การเติบโตสูง ซึ่งจะสร้างผลตอบแทนที่ดีมากในช่วงเวลาที่ตลาดปรับตัวขึ้น แต่จะมีความผันผวนของราคาอยู่พอสมควรในช่วงของการทยอยสะสม โดยกองทุนดังกล่าวมีผลการดำเนินงานย้อนหลังตั้งแต่เริ่มก่อตั้งกองทุน อยู่ที่ 145% (ข้อมูล ณ วันที่ 28 มิ.ย. 56)


          พร้อมกันนี้ บลจ.ไทยพาณิชย์ยังได้มีการจ่ายเงินปันผลสำหรับกองทุนรวม LTF สำหรับผลการดำเนิน งานระหว่างวันที่ 1 ก.ค. 2555 - 25 มิ.ย. 2556 จำนวน 2 กองทุน คือกองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นระยะยาว ปันผล 70/30 (SCBLT1) ในอัตรา 0.1200 บาทต่อหน่วย และกองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นระยะยาว ทาร์เก็ต (SCBLTT) ในอัตรา 0.1400 บาทต่อหน่วย โดยจ่ายให้ผู้ถือหน่วยไปแล้วเมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2556 ที่ผ่านมาด้วย


>>แหล่งที่มา<<







ไทยพาณิชย์ชี้ศก.ไทยเสี่ยงชะลอครึ่งปีหลัง




ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC) รายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 10 กรกฎาคม 2013

          ทั้งนี้ กนง. มองว่าอัตราดอกเบี้ยในระดับปัจจุบันยังเหมาะสม โดย กนง. มองว่าการชะลอตัวของการใช้จ่ายในประเทศในช่วงที่ผ่านมาเป็นการกลับมาขยายตัวในระดับปกติ หลังจากที่เร่งตัวมากในช่วงก่อนหน้าจากแรงกระตุ้นภาครัฐ โดยปัจจัยสนับสนุนคือการจ้างงานและรายได้ของประชาชนที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ประกอบกับนโยบายการเงินและการคลังที่ผ่อนคลาย จากสินเชื่อที่ยังขยายตัวสูงและมีการขาดดุลการคลังต่อเนื่อง

          อย่างไรก็ดี EIC มองว่าเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงชะลอตัวเพิ่มขึ้นในครึ่งปีหลัง การชะลอตัวของการใช้จ่ายอุปโภคบริโภคในช่วงที่ผ่านมาส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการสิ้นสุดนโยบายกระตุ้นของภาครัฐ แต่อีกส่วนหนึ่งที่น่ากังวลและเป็นสัญญาณการชะลอตัวคือ การใช้จ่ายในสินค้าประเภทอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าไม่คงทน เช่น อาหารและเครื่องดื่ม ของใช้ในครัวเรือน ที่ชะลอตัวลงในไตรมาส 1 ประกอบกับการเติบโตของสินเชื่อเพื่อการบริโภคนอกเหนือจากการซื้อรถยนต์และที่อยู่อาศัยที่เริ่มชะลอตัวลงตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี

          นอกจากนี้ การลงทุนภาครัฐยังมีความเสี่ยงที่จะไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้เดิม อีกทั้งการส่งออกในปีนี้น่าจะชะลอตัวลงกว่าที่คาดไว้

          EIC ระบุว่า การดำเนินนโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลาย ซึ่งอาจรวมถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติม สามารถทำได้ในภาวะที่แรงกดดันด้านเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ ซึ่งจะช่วยรักษาแรงส่งจากการใช้จ่ายในประเทศไม่ให้ชะลอตัวมากเกินไป ในขณะที่การลงทุนภาครัฐประสบข้อจำกัดและเศรษฐกิจโลกยังคงเปราะบาง อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่กนง.ได้แสดงความกังวลทั้งในด้านความผันผวนในตลาดเงินและความเสี่ยงของเงินทุนไหลออก รวมไปถึงหนี้ภาคครัวเรือน อาจเป็นข้อจำกัดในการดำเนินนโยบายดังกล่าว


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น